วันพุธที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2560

สมเด็จพระนเรศวรมหาราช

       
             สมเด็จพระนเรศวรมหาราช   เป็นโอรสของสมเด็จพระมหาธรรมราชาในราชวงศ์สุโขทัยกับพระวิสุทธิกษัตริย์  พระราชธิดาของสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ  ประสูติเมื่อ  พ.ศ. ๒๐๙๘  ที่เมืองพิษณุโลกเมื่อพระชนมายุได้  ๙  พรรษา ทรงถูกส่งไปเป็นตัวประกันที่กรุงหงสาวดี  เพราะพม่ายึดเมืองพิษณุโลกได้  ทรงได้รับการเลี้ยงดูในฐานะพระราชบุตรบุญธรรมเป็นเวลา  ๗ ปี  จน พ.ศ. ๒๑๑๒  กรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่า พระมหาธรรมราชาได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นกษัตริย์ของกรุงศรีอยุธยาในฐานะเมืองขึ้นของกรุงหงสาวดี  และอนุญาตให้พระนเรศวรกลับกรุงศรีอยุธยา  และได้รับการสถาปนาให้เป็นเจ้าเมืองพิษณุโลกและมีตำแหน่งอุปราช  ระหว่างนั้นทรงทำสงครามกับเขมรและพม่า   เพื่อป้องกันอยุธยา พระเจ้าหงสาวดีเห็นดังนี้จึงคิดกำจัดพระนเรศวร  แต่พระองค์ทรงทราบจึงทรงประกาศอิสรภาพที่เมืองแครง รวมเวลาที่กรุงศรีอยุธยาตกอยู่ภายใต้การปกครองของพม่าเป็นเวลา  ๑๕  ปี หลังจากประกาศอิสรภาพก็ทรงทำสงครามกับพม่าหลายครั้งและได้กวาดต้อนผู้คนจากหัวเมืองฝ่ายเหนือมาไว้เป็นกำลังได้มาก  ต่อมาในพ.ศ. ๒๑๓๓  สมเด็จพระธรรมราชาสวรรคต  พระนเรศวรจึงเสด็จขึ้นครองราชย์และทรงสถาปนาพระเอกาทศรถพระอนุชาขึ้นเป็นพระมหาอุปราช  พระราชภารกิจของพระองค์  ได้แก่  การทำศึกสงคราม  โดยเฉพาะสงครามครั้งสำคัญ  คือ  สงครามยุทธหัตถี  ที่ทรงรบกับพม่าที่ตำบลหนองสาหร่าย  ซึ่งพระองค์ทรงมีชัยชนะอย่างเด็ดขาดและถือเป็นพระเกียรติสูงสุด  เป็นวีรกรรมสุดยอดของกษัตริย์  แม้แต่ฝ่ายแพ้ก็ยังได้รับการยกย่องว่าเป็นนักรบแท้  หลังจากนั้นตลอดระยะเวลา ๑๕๐ ปี  กรุงศรีอยุธยาไม่ถูกรุกรานจากพม่าอีก  สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงขยายอาณาเขตออกไปอย่างกว้างขวางครอบคลุมทั้งล้านนา ล้านช้าง  ไทใหญ่  และกัมพูชา  รวมถึงพม่า  ครั้งสุดท้าย  คือ  การเดินทัพไปตีเมืองอังวะ  ซึ่งพระองค์ประชวร  และสวรรคตที่เมืองหาง  ใน พ.ศ. ๒๑๔๘  พระชนมายุได้  ๕๐  พรรษา  เสวยราชสมบัติได้  ๑๕  ปี   สมเด็จพระนเรศวรมหาราช   ทรงเป็นวีรกษัตริย์ที่ได้รับการจารึกไว้ในประวัติศาสตร์ในฐานะผู้กอบกู้เอกราชให้แก่กรุงศรีอยุธยา  ประชาชนชาวไทยจึงยกย่องพระองค์ให้เป็น  มหาราช  พระองค์หนึ่ง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น