วันอังคารที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2560

สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ


หนังสือพระราชพงศาวดาร ศักราชแผ่นดินสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถผิดกันทั้ง ๓ ฉบับ พระราชพงศาวดารฉบับพิมพ์ ๒ เล่มว่า สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถเสวยราชย์เมื่อปีขาล จุลศักราช ๗๙๖ พ.ศ. ๑๙๗๗ ครองราชสมบัติอยู่ ๓๙ ปี สวรรคตเมื่อปีมะเส็ง จุลศักราช ๘๓๕ พ.ศ. ๒๐๑๖

ฉบับพระราชหัตถเลขานี้ว่า เสวยราชย์เมื่อปีขาล จุลศักราช ๗๙๖ พ.ศ. ๑๙๗๗ ครองราชสมบัติอยู่ ๑๕ ปี สวรรคตเมื่อปีมะเส็ง จุลศักราช ๘๑๑ พ.ศ. ๑๙๙๒ (ปีรัชกาลน้อยกว่าฉบับพิมพ์ ๒ เล่ม ๒๔ ปี)

ฉบับหลวงประเสริฐว่า เสวยราชย์เมื่อปีมะโรง จุลศักราช ๘๑๐ (ช้ากว่าที่ว่าในฉบับพิมพ์ ๒ เล่ม ๑๔ ปี) ครองราชสมบัติอยู่ ๔๐ ปี (มากกว่า ๑๔ ปี) สวรรคตที่เมืองพิษณุโลก เมื่อปีวอกจุลศักราช ๘๕๐ พ.ศ. ๒๐๓๑ (ช้ากว่า ๑๕ ปี) ที่ศักราชหนังสือพระราชพงศาวดารผิดกันไปเป็นหลายอย่างด้วยเหตุใด ข้าพเจ้าจะได้อธิบายในตอนแผ่นดินสมเด็จพระอินทราชาที่ ๒ ข้าพเจ้าเชื่อว่าศักราชอย่างลงไว้ในฉบับหลวงประเสริฐนั้นเป็นถูกต้อง


ประวัติสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถนี้ เป็นพระราชโอรสของสมเด็จพระบรมราชาธิราช(สามพระยา) เรื่องสมถพของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถกล่าวไว้ในหนังสือยวนพ่าย ให้เข้าใจว่า เมื่อครั้งสมเด็จพระบรมราชาธิราชจะยกกองทัพลงไปตีเมืองเขมรนั้น ไปตั้งพลับพลารวมพลอยู่ที่ทุ่งพระอุทัย คือที่เรียกทุกวันนี้ว่าทุ่งหันตรา อยู่ข้างตะวันออกกรุงเก่า พระมเหสีกำลังทรงพระครรภ์อยู่ออกไปส่งเสด็จ ไปประสูติสมเด็จพระบรมไตรนาถที่พลับพลานั้น (เมื่อปีกุน จุลศักราช ๗๙๗ พ.ศ. ๑๙๗๔) กล่าวความนี้ไว้ในโคลงยวนพ่าย ๒ บาทว่า

"แถลงปางพระมาตุไท้ สมภพ ท่านนา
แดนตำบลพระอุทัย ท่งกว้าง" ดังนี้

ทรงพระเจริญขึ้น สมเด็จพระราชบิดาอภิเษกให้เป็นพระมหาอุปราช เมื่อปีมะเส็ง จุลศักราช ๘๐๐ พ.ศ. ๑๙๘๑ พระราชทานพระนามว่า พระราเมศวร ปีอภิเษกเป็นพระมหาอุปราชนี้ พระราชพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐหลงว่าเป็นปีที่พระราเมศวรเสด็จขึ้นไปครองเมืองพิษณุโลก อันจะเป็นไปไม่ได้ ด้วยในปีนั้นพระชันษาพระราเมศวรได้เพียง ๗ ขวบ ถ้าอภิเษกเป็นพระมหาอุปราชอย่างอภิเษกพระบรมโอรสาธิราชนั้นเป็นได้

จำเนียรกาลต่อมา สมเด็จพระบรมราชาธิราชโปรดให้พระราเมศวรอุปราช เสด็จขึ้นไปครองหัวเมืองเหนืออยู่ที่เมืองพิษณุโลก ถ้าจะประมาณศักราชเมื่อเสด็จขึ้นไป เทียบพระชันษาว่า ๑๕ ปี (คราวๆเดียวกับพระชันษาสมเด็จพระนเรศซร เมื่อขึ้นไปแครองเมืองพิษณุโลกอย่างเดียวกันในชั้นหลัง) คงเป็นเมื่อปีขาล จุลศักราช ๘๐๘ พ.ศ. ๑๙๘๙ ครองเมืองเหนืออยู่ ๒ ปี สมเด็จพระราชบิดาเสด็จสวรรคต พระราเมศวรก็ลงมาเสวยราชย์ ณ กรุงศรีอยุธยา

ในสมัยเมื่อพระราเมศวรขึ้นไปครองเมืองพิษณุโลกนั้น เชื่อได้ว่าเจ้านายเชื้อพระวงศ์ของพระมหาธรรมราชายังมีอยู่เป็นแน่ (เพราะยังมีเชื้อวงศ์ต่อมาจนถึงขุนพิเรนทรเทพ ซึ่งเป็นพระมหาธรรมราชาในแผ่นดินสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ) แต่ในครั้งนั้นบางทีโดยมากจะเป็นเพียงชั้นหม่อมเจ้าหม่อมราชวงศ์ ถึงพวกข้าราชการครั้งสมเด็จพระมหาธรรมราชาก็คงจะยังมีตัวอยู่ พระราเมศวรเสด็จขึ้นไปอยู่เมืองพิษณุโลก จะได้ไปทรงสมาคม บางทีจะถึงเกี่ยวดองกับเชื้อพระวงศ์ของพระมหาธรรมราชา จึงเป็นเหตุให้ทรงทราบและทรงนิยมราชประเพณีครั้งนครสุโขทัย อันจะพึงสังเกตได้ในเหตุการณ์ต่างๆ ตั้งแต่เสด็จลงมาเสวยราชย์เป็นสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ เห็นได้ว่าทรงประพฤติตามแบบอย่างราชประเพณีครั้งนครสุโขทัยโดยมาก

เนื้อความตามที่สอบได้ดังอธิบายมานี้ ข้าพเจ้าเข้าใจว่าสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถสมภพเมื่อปีกุน จุลศักราช ๗๙๓ พ.ศ. ๑๙๗๔ เมื่อพระชันษา ๗ ปี ได้รับอภิเษกเป็นพระมหาอุปราชทรงพระนามพระราเมศวร เมื่อพระชันษา ๑๕ ได้เสด็จขึ้นไปครองเมืองพิษณุโลกอยู่ ๒ ปี สมเด็จพระราชบิดาสวรรคต เสด็จลงมาครองราชสมบัติกรุงศรีอยุธยาเมื่อปีมะโรง จุลศักราช ๘๑๐ พ.ศ. ๑๙๙๑ เมื่อพระชันษาได้ ๑๗ เสวยราชย์ ณ กรุงศรีอยุธยา ๑๕ ปี แล้วเปลี่ยนราชธานีไปประทับอยู่ ณ เมืองพิษณุโลก ตั้งแต่ปีมะแม จุลศักราช ๘๒๕ พ.ศ. ๒๐๐๖ ครองราชสมบัติอยู่ที่นั้นอีก ๒๕ ปี สวรรคตที่เมืองพิษณุโลก เมื่อปีวอก จุลศักราช ๘๕๐ พ.ศ. ๒๐๓๑ พระชันษาได้ ๕๗ ปี รวมปีที่ได้ครองราชสมบัติอยู่ ๔๐ ปี

พระนามที่เรียกว่า สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ นี้ ในหนังสือเรื่องอื่นบางฉบับเรียกว่า สมเด็จพระบรมไตรโลกนายกบ้าง สมเด็จพระบรมติโลกบ้าง แต่ก็เป็นความเดียวกัน ข้าพเจ้าเข้าใจว่าเป็นพระนามพิเศษถวายเฉลิมพระเกียรติยศ ดังได้อธิบายไว้ในที่อื่นแล้ว

สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ มีลูกยาเธอที่ปรากฏพระนาม ๓ พระองค์ ไม่ปรากฏพระนามพระองค์ ๑ ที่ปรากฏพระนามนั้นคือ (๑) พระบรมราชา ซึ่งพระราชทานอภิเษกให้อยู่ครองกรุงศรีอยุธยา เมื่อเสด็จขึ้นไปครองราชสมบัติอยู่ ณ เมืองพิษุโลก พระบรมราชานี้ได้เป็นพระเจ้าแผ่นดินครองราชสมบัติต่อสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถมาอีก ๓ ปี จึงสวรรคต แต่หนังสือพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขานี้ เรียกพระนาม(โดยสำคัญผิดพระองค์)ว่า สมเด็จพระอินทราชาธิราช (๒) พระอินทราชา ปรากฏพระนามเมื่อไปรบศึกเชียงใหม่ ต้องปืนที่พระพักตร์ครั้งรบกับหมื่นนคร เห็นจะสิ้นพระชนม์ในคราวนั้น ด้วยไม่ปรากฏพระนามต่อมาอีก (๓) พระเชษฐา ที่ได้เสวยราชย์เป็นสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ สมภพที่เมืองพิษณุโลก ข้าพเจ้าเข้าใจว่า ฝ่ายพระชนนีจะเป็นเชื้อพระวงศ์ของพระเจ้ากรุงสุโขทัยแต่ก่อนมา (๔) ที่ไม่ปรากฏพระนามนั้น คือลูกเธอพระองค์หนึ่งซึ่งกล่าวในหนังสือยวนพ่ายว่า เมื่อสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถจะทรงผนวช รับสั่งให้ลูกเธอพระองค์นี้เสด็จไปนิมนต์พระสงฆ์ในเมืองลังกาเข้ามานั่งหัตถบาต ลูกเธอองค์นี้จะเป็นพระองค์ใดใน ๓ พระองค์ที่กล่าวแล้วไม่ได้ จึงเห็นว่าจะเป็นอีกพระองค์หนึ่งต่างหาก

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น